ประวัติความเป็นมาของพื้นที่
ตำบลพระแท่น มีชื่อเรียกสืบเนื่องจากมีหลักฐานแท่นศิลารอยพระพุทธบาท มีต้นรัง 2 ต้น โอบ รอยแท่นพระพุทธบาทไว้ ต่อมามีการจัดตั้งชื่อตำบลอย่างเป็นทางการจึงใช้ชื่อว่า “ตำบลพระแท่น” เดิมทีประชาชน ที่อาศัยในพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนเล็ก ๆ ไม่มีการแบ่งเขตการปกครองชัดเจน เมื่อปี 2360 มีการอพยพของกลุ่มชาวจีนเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ต่อมามีการมีการแบ่งเขตหมู่บ้านและตั้งชื่อหมู่บ้านแรกที่เกิดขึ้นว่า “หมู่บ้านสำนักเย็น”และมีหมู่บ้านอื่นๆตามมาจวบจนปัจจุบัน มีทั้งหมด 16 หมู่บ้าน โดยอยู่เขตรับผิดชอบของตำบลพระแท่นจำนวน 12 หมู่บ้านและในจำนวนนี้มี 6 หมู่บ้าน ที่มีพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลพระแท่นลำพระยา พื้นที่ตำบลพระแท่น มีป่าพระแท่นดงรังเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดี มีเนินเขาที่สำคัญ 2 แห่ง แห่งแรกเรียกว่าเขาถวายพระเพลิง ยอดสูง 55 เมตร มีมณฑป 12 เหลี่ยม ครอบรอยพระพุทธบาทจำลองไว้ภายใน แห่งที่สองมีลักษณะเป็นแท่นหินรูปสี่เหลี่ยมหน้าลาด ลักษณะคล้ายแท่นหรือเตียงนอน วนอุทยานพระแท่นดงรังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติพระแท่นดงรัง มีเนื้อที่ประมาณ 1,344 ไร่ เป็นป่าไม้เบญจพรรณ ประกอบด้วยไม้ประเภท ไม้รัง ไม้เต็ง ไม้แดง ฯลฯ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2525 ตำบลพระแท่นมีสถานที่สำคัญมาแต่โบราณกาล คือ “วัดพระแท่นดงรัง หรือพระแท่นดงรัง” สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพราะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธในประเทศลังกา ณ สถานที่แห่งนี้ มีแท่นหินขนาดใหญ่ ที่มีตำนานที่แต่งขึ้น ในภายหลังเพื่อเป็นเครื่องเจริญศรัทธา บริเวณวัดมีโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ เช่น บ่อบ้วนพระโอษฐ์ วิหารพระอานนท์ เขาถวายพระเพลิง ปล่องพญานาค และยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ทุก ๆ ปีประมาณกลางเดือน 4 ของไทยจะมีงานนมัสการอย่างยิ่งใหญ่
ลักษณะที่ตั้ง/เขตการปกครอง/อาณาเขต
ลักษณะที่ตั้งของเทศบาลตำบลพระแท่น ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ตำบลพระแท่น อำเภอ ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากอำเภอท่ามะกา ประมาณ 17 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 35 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ 10.6 ตารางกิโลเมตร
-เขตการปกครอง พื้นที่ของเทศบาลครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพระแท่น จำนวน 12 หมู่บ้าน ได้แก่
หมู่ที่ 1 บ้านสำนักเย็น (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วน)
หมู่ที่ 3 บ้านไร่ (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วน)
หมู่ที่ 4 บ้านไร่ (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วน)
หมู่ที่ 5 บ้านท่าโป่ง (เต็มพื้นที่)
หมู่ที่ 6 บ้านดอนรัก (เต็มพื้นที่)
หมู่ที่ 7 บ้านกระโดนโพรง (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วน)
หมู่ที่ 10 บ้านพระแท่น (เต็มพื้นที่)
หมู่ที่ 11 บ้านหนองงู (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วน)
หมู่ที่ 12 บ้านกระโดนโพรง (เต็มพื้นที่)
หมู่ที่ 13 บ้านโป่งพระแท่น (เต็มพื้นที่)
หมู่ที่ 15 บ้านดอนสามหลัง (ครอบคลุมพื้นที่บางส่วน)
หมู่ที่ 16 บ้านดงรัง (เต็มพื้นที่)
– อาณาเขต
ทิศเหนือ จรด อบต.อุโลกสี่หมื่น
ทิศตะวันออก จรด เทศบาลตำบลหนองลาน
ทิศใต้ จรด อบต.ตะคร้ำเอน
ทิศตะวันตก จรด วนอุทยานพระแท่นดงรัง , ตำบลตะคร้ำเอน